แหล่ส่างลอง (แห่ลูกแก้ว)
ช่วงเวลา กลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน
ความสำคัญ
๑. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่มีมาแต่เดิม๒. ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาระหว่างปิดภาคเรียนได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา
๓. พ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าบวชถือเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่
พิธีกรรม
ลักษณะการบวชเณรของชาวแม่สอดจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ๑. แบบข่านหลิบ (บวชเรียบง่าย) คือผู้ที่ตกลงใจบวช พ่อแม่ผู้อุปถัมภ์ก็จะนำผู้ที่จะบวชไปโกนหัวนุ่งผ้าขาวพร้อมด้วยสำรับกับข้าวแบบข้าวหม้อแกงหม้อ ไปวัดให้กับพระภิกษุสงฆ์ทำพิธีบวชเณรให้ก็เป็นอันเสร็จ
๒. การบวชเณรโดยมีการแหล่ส่างลอง(แห่ลูกแก้ว)ซึ่งจะมีการแต่งตัวให้กับลูกแก้วอย่างสวยงาม มีการตกแต่งปะรำพิธี โดยแต่งตัวให้เด็กในลักษณะของส่างลองอย่างสวยงามเมื่อพร้อมกันหมดแล้วส่างลองทั้งหมดก็จะไปรับศีลจากพระ
จากนั้นก็จะนำส่างลองขี่คอ(ถ้าเด็กตัวเล็ก) ขี่ม้า ขี่ช้าง นั่งรถ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามแห่แหนไปรอบตัวเมืองแม่สอด ขบวนแห่จะมีการละเล่น มีดนตรีของพม่าประกอบการแห่อย่างครึกครื้น มีการเอาส่างลองเดินพร้อมกับโปรยข้าวตอกดอกไม้อย่างสนุกสนาน ขบวนส่างลองจะถูกนำไปยังบ้านของพ่อแม่หรือผู้ที่บวชเพื่อให้ดูตัว (ส่างลองจะไม่กราบไหว้ผู้บวชให้นอกจากพ่อแม่เท่านั้น เพราะถือว่าส่างลองคือเจ้าชายผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่มีศักดิ์สูงมาก) แล้วจะแห่ส่างลองไปยังศาลเจ้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดเหนือของอำเภอแม่สอดแล้วจึงแห่กลับมาที่วัด ถ้าต้องการแห่หลายรอบก็ใช้เวลา ๒ วัน ถ้าแห่รอบเดียวก็ใช้เวลา ๑ วัน
เมื่อมาถึงวัดก็จะนำส่างลองไปโกนผม อาบน้ำแต่งตัวด้วยผ้าขาว แล้วจัดสำรับกับข้าวด้วยอาหาร ๑๒ อย่าง ขาดเกินไม่ได้ เสร็จแล้วจึงมีการทำขวัญแล้วทำการบวชเณร การบวชมักนิยมบวชกันตอนเย็น หรือไม่ก็ตอนเช้า เมื่อบวชเณรแล้วก็จะมีการฉลองโดยการถวายภัตตาหารแก่พระใหม่และพระภิกษุของวัดทั้งหมด ตลอดจนมีการเลี้ยงผู้มาร่วมงานอย่างเต็มที่รับฟังธรรมะ จึงเป็นอันเสร็จพิธี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น